5 สาเหตุหลักที่คนสัมภาษณ์งานไม่ผ่าน
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเราหรือบางคนถึงได้ถูกเรียกสัมภาษณ์งานจากหลายบริษัท แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ผ่านสัมภาษณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วันนี้ Pasona ได้รวบรวม “5 สาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่ไม่ผ่านสัมภาษณ์งาน” มาแชร์ให้เพื่อนๆได้ลองสังเกตตัวเองและปรับปรุงแก้ไขดู ไม่แน่ว่าหากคุณหาทางแก้จุดบกพร่องเหล่านี้ได้ ผลสัมภาษณ์ครั้งถัดไปของคุณอาจเป็นไปตามที่คาดหวังโดยที่ยังไม่ทันได้ไปมูกันเลยทีเดียว
-
[เหตุผลในการลาออกจากที่เก่า หรือเหตุผลในการมองหางานใหม่คลุมเครือ]
“เหตุผลในการลาออกจากงาน” เป็นคำถามที่มักถูกถามในการสัมภาษณ์งานทุกครั้ง และเป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องให้คำตอบให้สอดคล้องกับสิ่งที่คุณได้อธิบายไปก่อนหน้าทั้งหมด หากคำตอบของคุณไม่สอดคล้อง ผู้สัมภาษณ์อาจมองว่าคุณมีปัญหาที่ซ่อนอยู่และไม่กล้าตอบตามความเป็นจริง
ตัวอย่างเช่น หากคุณบอกว่าคุณต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ และต้องการเติบโตในสายงานเดิม แต่ตำแหน่งที่คุณสมัครมีลักษณะงานและตำแหน่งที่เหมือนกับงานเดิมที่คุณลาออกมา บริษัทอาจคิดว่าคุณไม่เหมาะกับตำแหน่งนั้น เนื่องจากงานนั้นอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณ แม้คุณจะเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นมากเพียงใด คุณอาจจะอยู่กับบริษัทได้ไม่นาน
-
[มีแพลนว่าจะไปเรียนต่อหรือทำธุรกิจส่วนตัวในอนาคตอันใกล้]
ไม่มีบริษัทใดที่ต้องการหาพนักงานใหม่บ่อย ๆ เนื่องจากการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ ต้องใช้ทั้งเวลาและเงิน ดังนั้น หากบริษัททราบว่าคุณอาจจะทำงานกับพวกเขาได้ไม่นาน หรือมีแผนทำกิจกรรมอื่นควบคู่กันไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานหลัก บริษัทจึงมักจะมองหาบุคคลที่พร้อมทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทจำนวนมากที่สนับสนุนให้พนักงานพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการของตนเองด้วยการให้ทุนการศึกษา ดังนั้น ผู้สมัครควรศึกษานโยบายของบริษัทนั้น ๆ ว่าเหมาะสมกับความต้องการของตนเองหรือไม่ ก่อนที่จะตอบคำถามในการสัมภาษณ์
-
[ทักษะบางอย่างไม่ถึงเกณฑ์ที่บริษัทคาดหวัง]
ในทุกตำแหน่งงานจะมีคุณสมบัติหลักและคุณสมบัติรองที่บริษัทต้องการ หากคุณขาดคุณสมบัติหลักที่จำเป็นสำหรับงานนั้น ๆ มันจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบริษัท เพราะเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถสอนให้คุณได้ในเวลาอันสั้น ตัวอย่างเช่น หากคุณสมัครงานตำแหน่งธุรการที่ต้องติดต่อประสานงานกับต่างประเทศ แต่ทักษะด้านภาษาของคุณไม่แข็งแรงพอที่จะสื่อสารทางธุรกิจกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าคุณจะมีประสบการณ์ในงานธุรการมาก่อน ก็อาจจะยากที่จะผ่านการสัมภาษณ์ในตำแหน่งนี้
ในทางกลับกัน หากคุณขาดเพียงคุณสมบัติรองบางอย่าง คุณยังอาจได้รับการพิจารณาอยู่ ตัวอย่างเช่น หากคุณมีประสบการณ์ตรงกับตำแหน่งที่สมัคร แต่โปรแกรมภายในที่คุณใช้ในบริษัทเดิมแตกต่างจากโปรแกรมที่บริษัทใหม่ใช้ บริษัทอาจยังคงพิจารณาคุณเพราะเขาสามารถสอนโปรแกรมเหล่านี้ให้คุณได้ในเวลาอันสั้น
-
[มั่นใจจนเกินไป หรือ ตื่นเต้นจนตอบคำถามผิดประเด็น]
ความมั่นใจเป็นสิ่งที่ดีในการสัมภาษณ์ เพราะมันทำให้คุณดูเป็นคนหนักแน่นและพร้อมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ แต่หากแสดงความมั่นใจมากเกินไป บริษัทอาจมองว่าคุณเป็นคนทะนงตนและทำตัวเหมือนน้ำเต็มแก้ว ซึ่งอาจทำให้การทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นเรื่องยาก เพราะคุณจะยึดเหตุผลและความมั่นใจของตนเองเป็นหลักจนไม่ยอมรับฟังผู้อื่น ดังนั้น ควรแสดงความมั่นใจอย่างเหมาะสม ไม่แข็งกระด้าง และพร้อมรับฟัง อย่าพูดโอ้อวดจนเกินไป
ในทางกลับกัน หากคุณตื่นเต้นมากเกินไป มันอาจจะทำให้กระบวนการคิดของคุณช้าลงจนคุณหลงประเด็นคำถามและคิดคำตอบไม่ทัน ซึ่งอาจจะทำให้ตอบคำถามผิดประเด็นได้ หากคุณเป็นคนประเภทนี้ เราขอแนะนำให้คุณเตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่คาดว่าน่าจะเจอในการสัมภาษณ์ไปล่วงหน้า (สามารถอ่านคอนเทนต์ 10 คำถามสัมภาษณ์งานได้จาก 10 คำถามสัมภาษณ์งานที่มักโดนถาม! – Pasona Thailand) เพื่อทำให้คุณมั่นใจในตัวเองขึ้นว่าไม่ว่าจะเจอคำถามแบบไหน คุณก็สามารถรับมือได้ เพราะได้เตรียมคำตอบไว้แล้ว
-
[ไม่ศึกษาธุรกิจขององค์กรที่สมัครไป]
หลายครั้งที่ผู้สมัครมักถูกถามถึงเหตุผลที่ต้องการทำงานร่วมกับองค์กรที่สมัคร หรือถามถึงธุรกิจที่บริษัททำ แต่ผู้สมัครกลับไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างละเอียด เนื่องจากไม่ได้ศึกษาองค์กรนั้นๆไปมากเพียงพอที่จะตอบคำถามให้กรรมการประทับใจได้ บางท่านอาจให้เหตุผลที่ฟังดูดี แต่ข้อมูลบางส่วนของบริษัทนั้นผิดพลาด ซึ่งอาจทำให้บริษัทมองว่าคุณไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่จะทำงานกับพวกเขา เพราะหากคุณต้องการทำงานกับองค์กรใดจริง ๆ คุณควรศึกษาประวัติความเป็นมา วัฒนธรรมองค์กร และจุดมุ่งหมายขององค์กรนั้นๆเป็นอย่างดี
#หางาน #สมัครงาน #หางานกทม. #หางานชลบุรี #หางานระยอง #หางานปทุมธานี #หางานสมุทรปราการ #หางานทำ #หางานบริษัทญี่ปุ่น #ฝากประวัติ #ค้นหางาน #PASONA #เกร็ดความรู้ #สัมภาษณ์งาน #เทคนิคการสัมภาษณ์ #เตรียมตัวสัมภาษณ์ #สัมภาษณ์ยังไงให้ได้งาน